วิวัฒนาการของการขับเคลื่อนประเทศไทย THAILAND AND MOBILITY
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีทำเลที่ตั้งดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม กอปรกับทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สายเลือดใหญ่ของการคมนาคมอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในการติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ทั้งจากตะวันตกเองหรือประเทศจีน จากเดิมประเทศไทยใช้การสัญจรขนส่งทางน้ำโดยอาศัยโครงข่ายแม่น้ำ ลำคลองที่มีอยู่มากมายเป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กันตั้งแต่ครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
การเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคมครั้งสำคัญเกิดขึ้นในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงริเริ่มนำเอาระบบรางเพื่อการขนส่งมวลชนสำหรับเมืองเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ ทรงนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้อย่างเหมาะสม รองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของพระนคร นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนนำพาประเทศไทยเข้าสู่ความทันสมัยทัดเทียมชาติมหาอำนาจในยุคนั้น
เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยถูกนำมาใช้อย่างมากมายในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ การคมนาคมที่เชื่อมโยงผู้คนและธุรกิจที่อยู่ห่างไกลให้เข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ด้านอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างงานให้กับผู้คนได้มากมายทั่วประเทศ และยังมีอีกหลายด้านที่ปรากฎให้เห็น
จวบจนปัจจุบันในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความก้าวหน้าของโครงการสำคัญต่าง ๆ ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road (OBOR) เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนผ่านจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก การพัฒนาระบบคมนาคมภายในประเทศ รถไฟฟ้าที่จะเชื่อมโยงพื้นที่เมืองและปริมณฑลเข้าด้วยกัน การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV (Electric Vehicle) ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะมีให้เห็นมากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้นับเป็นการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.bic.moe.go.th/images/stories/120170702-The-Education-Act.pdf
http://www.dltv.ac.th/about-us
https://www.thairath.co.th/content/372615
ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ DIGITAL FOR DEVELOPMENT
รู้จักกับ Thailand 4.0
ภายใต้นโยบายการนำประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ประเทศไทยในปัจจุบันได้กำลังอยู่ในยุค Thailand 4.0 ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นเครื่องมือในการพลิกโฉมประเทศไทยตามแนวทาง “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” (Digital Transformation) ซึ่งมีให้เห็นกันแล้วในหลายภาคส่วนของประเทศ อาทิ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างงานรูปแบบใหม่ จากการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Co-creation) ให้เป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตในยุคสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างการเชื่อมต่อ (Connecting) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกลุ่ม Startup และกลุ่มผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้ามาร่วมกันวางแผนยกระดับนวัตกรรมในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการยกระดับเป็นศูนย์รวมของการสร้างนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การขยายผลในระดับประเทศ และนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Hospital 4.0) และการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) เป็นต้น
