
“สวัสดี” SAWASDEE
คำว่า“สวัสดี” (Sawasdee) เป็นคำทักทายของคนไทย เริ่มใช้ในปีพ.ศ.2486 มีความหมายว่า “ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง และความปลอดภัย..” ใช้ในโอกาสที่พบกันหรือเมื่อต้องการบอกลา นอกจากนี้ยังหมายถึงการอวยพรให้กับผู้อื่นได้ประสบพบเจอแต่ในสิ่งที่ดีและการมีไมตรีจิตที่จะส่งความปรารถนาดีให้แก่กัน
ส่วน “การไหว้”หรือการยกมือขึ้นประนมไหว้ในระดับหน้าอก แล้วประสานมือเป็นรูปดอกบัวตูม นั้นเป็นการแสดงออกถึงความมีสัมมาคารวะและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยการวางมือในระดับหน้าอกหรือระดับหัวใจสื่อความหมายถึงความรู้สึกที่มาจากใจของผู้ไหว้
เมื่อกล่าวคำทักทาย“สวัสดี”พร้อมยกมือขึ้นไหว้ด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร จึงเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพและมิตรไมตรี เป็นมารยาทไทยที่ดีงามตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย อันเป็นเอกลักษณ์เป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมมายาวนาน สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลกได้รู้จักกับมิตรภาพและความความปรารถนาดีที่มีแก่กันและกัน ณ ดินแดนแห่งรอยยิ้ม (Land of Smile) แห่งนี้
ประสานวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียว THE CULTURAL MELTING POT
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา แต่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและให้ความเสรีในด้านการนับถือศาสนา และคนไทยกว่า 90% นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ
ด้วยที่ตั้งของประเทศไทยเองนั้นอยู่ระหว่างสองวัฒนธรรมใหญ่ ทำให้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่าง จีนและอินเดีย ส่งผลให้เกิดเป็นประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมายที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษสู่ปัจจุบัน อาทิ ประเพณีทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งผสมผสานอัตลักษณ์ตัวตนและอุปนิสัยของคนไทย ที่สนุกสนานร่าเริง มีน้ำใจเอื้อเฟื้อแบ่งปัน มีความอ่อนน้อมถ่อมตนให้ความเคารพนับถือผู้สูงวัยกว่า มีความกตัญญูรู้คุณฯ แทรกซึมอยู่ในงานเทศกาลและประเพณีไทย
การหลอมรวมประสานวัฒนธรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นของคนไทย และสร้างความประทับใจให้กับ ผู้มาเยือนได้เข้ามาสัมผัส ทั้งด้านประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผ่านการท่องเที่ยว ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ด้านการใช้ภาษา มีการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ รวมทั้งการใช้ตัวอักษรและภาษาเขียนที่เขียนแบบเดียวกันทั้งประเทศ แต่มีความต่างกันในการใช้ภาษาพูด ด้วยการใช้สำเนียงและคำศัพท์ต่าง ๆ จะพูดด้วยภาษาถิ่นของตนเอง จึงเกิดเป็นภาษาพูดและสำเนียงถิ่นตามแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาใต้
ปัจจุบันมีการใช้ภาษาสากลหรือภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสื่อสาร

เสน่ห์ไทย เที่ยวได้ทุกฤดู A GREAT PLACE TO VISIT
ประเทศไทยมีความหลากหลายและได้เปรียบทั้งด้านวัฒนธรรมและสภาพภูมิประเทศ ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้ภูมิอากาศของประเทศไทยมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น มีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 19-38 องศาเซลเซียส แบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู คือ
– ฤดูร้อน เริ่มเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม
– ฤดูฝน เริ่มกลางเดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน
– ฤดูหนาว เริ่มเดือนตุลาคม-ปลายเดือนกุมภาพันธ์
การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเดินทางมาท่องเที่ยว ได้ทุกฤดูไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ ประกอบกับสภาพภูมิประเทศทิวทัศน์ที่งดงามที่คอยท้าทายและเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสัมผัสประสบการณ์เที่ยวเมืองไทยในมิติต่าง ๆ และเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่คนทั่วโลกต้องเดินทางสัมผัสและค้นหาเสน่ห์ของประเทศไทยสักครั้งหนึ่งในชีวิต
สำหรับผลงานที่การันตีเสน่ห์ของประเทศมาเที่ยวได้ทุกฤดู ได้แก่ รางวัล “จุดหมายยอดเยี่ยมต่างประเทศประจำปี 2019” (กรุงเทพฯ-เมืองหลวง) จากงาน SATTE Awards เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย รางวัล “สุดยอดจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก” (Global Destination Cities Index) โดย Mastercard ที่กทม. ได้รับรางวัลติดต่อกัน 4 ปี เป็นต้น
แหล่งที่มา :
HTTPS://WWW.TATNEWS.ORG/2019/09/BANGKOK-TOPS-MASTERCARDS-GLOBAL-DESTINATION-CITIES-INDEX-FOR-THE-FOURTH-CONSECUTIVE-YEAR/
HTTPS://WWW.PRACHACHAT.NET/TOURISM/NEWS-272408
ศูนย์กลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ HUB OF SOUTHEAST ASIA
ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางภูมิภาคในการเชื่อมโยงธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน จากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งทำให้ปัจจุบันประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคบนเวทีต่าง ๆ เช่น ASEAN APEC และ BIMSTEC
นอกจากนี้ไทยยังเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนสายเอเชีย East West North South Corridor และการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt Road Initiative มีการพัฒนาด้านคมนาคมโครงข่ายทางระหว่างเมือง เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง อันจะส่งผลสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนรวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล และยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0”
